ผู้ฝึกสอนกีฬา ในปัจจุบันมีบทบาทหน้าที่หลายอย่าง มากมายตั้งแต่การเป็นผู้ฝึกสอน (Instructor), ผู้ประเมิน (Assessor) มิตรหรือเพื่อน (friend) ผู้ให้คำปรึกษา (Mentor) ผู้ให้ความสะดวกสบาย (Facilitation) ผู้สาธิต (Demonstrator) ผู้สนับสนุน (Supporter) ผู้ใฝ่รู้ (Fact Finder) ผู้สร้างแรงจูงใจ (Motivator) ผู้จัดการ (Organizer) ผู้วางแผนและรอบรู้ ซึ่งโอกาสและสถานการณ์ที่ต่างๆ และเป็นตัวกำหนดว่าขณะนั้นผู้ฝึกสอนควรมีสถานภาพอย่างไร ดังนั้นบทบาทของผู้ฝึกสอนที่ดี คือการคำนึงว่า ในช่วงเวลาใดควรจะทำหน้าที่หรือพฤติกรรมใดที่สอดคล้องและช่วยส่งผลที่ดีให้กับทีมหรือนักกีฬา
กรมพลศึกษา ได้เสนอแนะลักษณะและบทบาทของผู้ฝึกสอนที่ดี ไว้ดังนี้
1. ผู้ฝึกสอนต้องตระหนักดีว่าการแพ้หรือชนะนั้น ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายประการทั้งสภาพร่างกายและจิตใจของนักกีฬา รวมทั้งสภาพแวดล้อมภายนอก
2. มีความมานะ มีระเบียบวินับ และเสียสละทำงานเพื่อหมู่คณะ
3. มีความรู้ความสามารถ และมีความคิดอย่างมีเหตุผลในการถ่ายทอดความรู้และฝึกสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นที่ยอมรับของนักกีฬา
4. เคารพและยอมรับฟังความคิดเห็นของนักกีฬา ทั้งเลือกสรรอย่างมีเหตุผลหลักการและยึดมั่นในระเบียบข้อตกลงร่วมกัน
5. ฝึกสอนพอเหมาะกับสภาพร่างกายและจิตใจของนักกีฬา พยายามสอนและให้บทเรียนหรือแบบฝึกหัดเหมาะสมกับนักกีฬาแต่ละวัย
6. พยายามให้กำลังใจ กระตุ้น หรือจูงใจให้นักกีฬาเกิดความรักในชื่อเสียงของหมู่คณะ เพื่อนนักกีฬา เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบในการฝึก และมีจิตวิญญาณที่จะนำชัยชนะ มาสู่หมู่คณะ
7. ฝึกให้นักกีฬาเกิดการเรียนรู้จนถึงขั้นชำนาญ
8. ใช้วิธีการฝึกหลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับความสนใจของแต่ละบุคคลเพื่อไม่ให้เกิดความเบื่อหน่าย
9. การฝึก เริ่มจากการสอนทฤษฎีแล้วจึงมาสู่ภาคสนาม โดยอธิบาย สาธิตลองปฏิบัติ เพื่อให้นักกีฬาเกิดความเข้าใจและรู้เป้าหมายของการฝึกนั้นๆ
10. จัดทำสถิติการฝึก การเข้าร่วมการฝึก ความสำเร็จของนักกีฬาแต่ละคน เพื่อเป็นระเบียนสะสม ช่วยเป็นแรงกระตุ้นให้นักกีฬาตื่นตัวอยู่เสมอในการที่จะพยายามทำดี ปรับปรุงความสามารถของตนเองให้ดีขึ้น
11. พยายามหาวิธีการเพื่อช่วยให้นักกีฬามีความสามารถสูงสุดเท่าที่จะทำได้
12. สร้างเสริมสมรรถภาพและทดสอบความสามารถของนักกีฬาอยู่เสมอเพื่อชี้ให้เห็นว่า ความสามารถของนักกีฬาแต่ละคนเป็นอย่างไร จะได้พัฒนาความสามารถให้คงอยู่ในเกณฑ์ดีเสมอไป
13. มีความเข้าใจว่าการฝึกนั้นจะต้องฝึกตลอดสม่ำเสมอ แต่ช่วงระยะเวลาการฝึกอาจแตกต่างกันออกไป
14. ฝึกซ้อมให้มากกว่าสภาพเป็นจริงในการแข่งขัน เมื่อถึงเวลาการแข่งขันจริงไม่ควรพูดอะไรมากเกินไป นอกจากให้คำแนะนำ
15. เมื่อนักกีฬาได้พัฒนาสมรรถภาพและความสามารถอย่างดีที่สุดแล้ว ผู้ฝึกสอนควรพยายามให้กำลังใจเพื่อส่งเสริมพลังใจให้เข้มแข็งพร้อมที่จะเข้าแข็งขัน
16. ในขณะแข็งขัน ไม่ควรสอนหรือตะโกรบอกนักกีฬามากเกินไป จะทำให้นักกีฬาเกิดความกังวลและสภาพจิตใจเสียไป
17. เมื่อนักกีฬาแพ้ ผู้ฝึกสอนต้องพยายามอธิบายหาสาเหตุของการแพ้ให้นักกีฬาทราบ เพื่อหาทางแก้ไขปรับปรุงข้อบกพร่องและปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้นักกีฬาเกิดความเชื่อมั่นในตนเองมากขึ้น
18. ไม่ใช้วาจาหยาบคายหรือดูหมิ่นความสามารถของนักกีฬา พยายามให้กำลังใจเมื่อแพ้และพยายามชมเชยเมื่อได้รับชัยชนะ
19. มีลักษณะผู้นำมีความคิดริเริ่ม วางโครงการ แนะนำนักกีฬาให้มีระเบียบวินัย ตัดสินใจถูกต้อง ออกคำสั่งชัดเจน มีความเข้าใจนักกีฬาทุกด้าน
20. มีความซื่อสัตย์ จริงใจ และให้ความยุติธรรมแก่นักกีฬาทุกๆ ด้าน ถือว่านักกีฬาทุกคนมีความสำคัญเท่าๆ กัน